การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบผ่านความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 37

Published on 21 Jun 2021, 12:41 PM

Yuval Shany อดีตประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้ตอบคำถาม 10 ข้อเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบผ่านความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติฉบับที่ 37

ศาสตราจารย์ Yuval Shany

Yuval Shany เป็นสมาชิกของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระหว่าง พ.ศ.2556-พ.ศ.2563  ในระหว่างวาระ 8 ปีของการดำรงตำแหน่งดังกล่าวคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้จัดทำความเห็นทั่วไปจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ความเห็นทั่วไปฉบับที่ 35 (มาตรา 9 เสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย) ความเห็นทั่วไปฉบับที่ 36 (สิทธิในชีวิต) ความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 (มาตรา21 สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ) นอกจากนี้เขายังมีบทบาทสำคัญในการจัดทำแถลงการณ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการเลี่ยงพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อันเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (CCPR/C/128/2)

 

คำถามข้อ 1: อะไรคือความเห็นทั่วไป? รัฐภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) หรือรัฐที่ไม่ได้เป็นภาคีต่อกติกาฯดังกล่าวจำเป็นต้องปฏิบัติตามความเห็นทั่วไปหรือไม่?

ความเห็นทั่วไป (General Comments) ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเป็นเอกสารสำคัญแสดงรายละเอียดการตีความของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (authoritative interpretations) เกี่ยวกับบทบัญญัติต่างๆ ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รวมถึงแนะนำแนวทางเพื่อให้รัฐภาคีปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างมีประสิทธิผล   การตีความดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการปรึกษาหารืออย่างกว้างขวางกับรัฐภาคีและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆและได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติโดยหลักฉันทามติ ในความเห็นทั่วไปจะมีการรวบรวมและจัดหมวดหมู่การตัดสินใจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องและพิจารณาคำถามเชิงตีความและคำถามเกี่ยวกับแนวปฏิบัติซึ่งเกิดขึ้นในการทำงานของคณะกรรมการฯและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ  ความเห็นทั่วไปได้ให้คำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงแก่รัฐภาคีเพื่อช่วยให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และพิธีสารเลือกรับได้อย่างสมบูรณ์ แม้ว่าความเห็นทั่วไปจะไม่มีผลผูกพันอย่างเป็นทางการต่อรัฐภาคี (และย่อมไม่มีผลผูกพันอย่างเป็นทางการต่อรัฐซึ่งมิได้รับรองกติกาฯ) แต่เนื่องจากสถานภาพของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติในฐานะที่เป็นหน่วยงานของผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับเลือกจากรัฐภาคี  และได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบในการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของรัฐภาคี ประกอบกับประสบการณ์อย่างกว้างขวางของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในการตีความและปรับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รวมถึงกระบวนการอย่างละเอียดถี่ถ้วนในการจัดทำความเห็นทั่วไป สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้ความเห็นทั่วไปมีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างสูง จนถึงปัจจุบันคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้จัดทำความเห็นทั่วไปมาแล้ว 37 ฉบับ

 

คำถามข้อที่ 2: การชุมนุมในลักษณะใดที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้มาตรา 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)?

มาตรา 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองคุ้มครองการชุมนุมโดยสงบ กล่าวคือเป็นการชุมนุมที่ไม่ใช้ความรุนแรงของบุคคลมากกว่าหนึ่งคนเพื่อวัตถุประสงค์โดยเฉพาะ และมักมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการแสดงออก  การคุ้มครองการชุมนุมมีขอบเขตที่กว้าง โดยคุ้มครองการชุมนุมที่อยู่กับที่หรือมีการเคลื่อนที่ การชุมนุมในร่มและกลางแจ้ง การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ของเอกชน  การชุมนุมออนไลน์หรือวิธีการอื่นๆที่ได้กระทำทางออนไลน์ในอันที่จะเชื่อมโยงกับกับการชุมนุมที่จัดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ(เช่นมีการโฆษณาทางออนไลน์เกี่ยวกับการชุมนุม)ล้วนแต่ได้รับความคุ้มครอง  

การชุมนุมโดยทั่วไปได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่มีความรุนแรง เว้นแต่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนแสดงถึงการใช้กำลังหรือเจตนาจะใช้กำลังในระดับที่อาจมีผลทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพย์สิน ลักษณะดังกล่าวจัดเป็น “ความรุนแรง” ซึ่งเป็นเหตุให้ตำรวจหรือผู้บังคับใช้กฎหมายสามารถเข้ามาแทรกแซงได้ การกระทำรุนแรงเฉพาะตัวของผู้ร่วมชุมนุมบางคนไม่ได้ทำให้การชุมนุมโดยรวมเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบซึ่งมีลักษณะตรงข้ามกับการชุมนุมที่มีการใช้ความรุนแรงที่ร้ายแรงและเป็นวงกว้าง ดังนั้นเมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นในการชุมนุมเป็นครั้งคราว ตำรวจควรจะจัดการกับองค์ประกอบที่มีความรุนแรงในการชุมนุมนั้นเท่านั้นและไม่สลายการชุมนุมทั้งหมด ความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ได้ให้ความชัดเจนว่าการกระทำเพียงแค่ผลักหรือดันหรือการขัดขวางการสัญจรของยานพาหนะหรือคนเดินเท้า หรือกิจวัตรประจำวันต่างๆไม่นับว่าเป็นการกระทำที่รุนแรง นอกจากนี้ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยตำรวจหรือผู้ต่อต้านการชุมนุม (counter demonstrators) ไม่ควรส่งผลให้มีการยกเลิกการคุ้มครองผู้ร่วมชุมนุมในการชุมนุมโดยสงบ การพกพาอาวุธเข้าไปในการชุมนุมของผู้ร่วมชุมนุมควรได้รับการตรวจสอบเป็นกรณีไปว่าการกระทำดังกล่าวถือว่ามีเจตนาในการใช้ความรุนแรงหรือไม่

 

คำถามข้อ 3การจำกัดสิทธิลักษณะใดที่สามารถจำกัดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ?

มาตรา 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อนุญาตให้มีการจำกัดสิทธิบางประการ หากข้อจำกัดนั้นกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ตีความโดยพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของความได้สัดส่วนระหว่างประโยชน์สาธารณะและความเข้มงวดของการจำกัดการใช้สิทธิ  มาตรา 21 กำหนดเหตุอันชอบธรรมในการจำกัดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ โดยเหตุแห่งการจำกัดสิทธิได้แก่ เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ  ความสงบเรียบร้อย (ordre public) และการคุ้มครองสาธารณสุข การคุ้มครองศีลธรรมของประชาชนหรือสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น  ความเห็นทั่วไปฉบับที่37 ยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่าการจำกัดสิทธิจะต้องมีเนื้อหาชัดแจ้งและไม่ควรให้อำนาจดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายโดยไร้ขีดจำกัดและอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องให้รัฐภาคีตีความเหตุแห่งการจำกัดสิทธิอย่างแคบ  เมื่อมีการจำกัดสิทธิรัฐควรอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมในการใช้สิทธิให้มากที่สุดเท่าที่กระทำได้ ตัวอย่างเช่น ในกรณียกเว้นบางกรณี เมื่อมีการจำกัดสิทธิของผู้จัดการชุมนุมในเรื่องเวลาและสถานที่ชุมนุมในระยะการ “มองเห็นและได้ยิน”ของกลุ่มเป้าหมาย รัฐควรเสนอทางเลือกเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ในการจัดการชุมนุม  โดยหลักแล้วการจำกัดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบจะต้องไม่แทรกแซงเนื้อหาการชุมนุม (content neutral) กล่าวคือไม่เกี่ยวข้องกับข้อความที่มีการสื่อสารในระหว่างการชุมนุม ผู้ร่วมขบวนพาเหรดคนรักร่วมเพศควรได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับผู้ร่วมขบวนงานรื่นเริง อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมจะไม่ได้รับความคุ้มครองหากเป็นการชุมนุมที่มีการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อการสงคราม เพื่อสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนาซึ่งยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเป็นปฏิปักษ์ หรือการใช้ความรุนแรง การเผยแพร่เนื้อหาดังกล่าวควรเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายและตำรวจสามารถจำกัดการชุมนุมซึ่งมีเนื้อหานั้นเป็นข้อความหลักที่สื่อสารในการชุมนุม

 

คำถามข้อที่ 4: การจำกัดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบลักษณะใดที่ไม่สามารถกระทำได้?

การจำกัดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบด้วยเหตุอื่นใดนอกเหนือจากเหตุที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 ไม่สามารถกระทำได้ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  เช่นเดียวกับการจำกัดสิทธิด้วยเหตุที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21แต่ไม่มีเหตุอันสมควรแก่การกระทำเช่นนั้นหรือขาดหลักฐานหรือการประเมินความเสี่ยงอย่างเป็นรูปธรรม  การจำกัดสิทธิไม่ควรทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน ในบริบทนี้รัฐควรพิจารณาถึงการที่ผู้ชุมนุมเกิดความกลัวที่จะเข้าร่วมการชุมนุมในอนาคตอันเป็นผลจากการจำกัดสิทธิของผู้ชุมนุม เงื่อนไขอีกข้อหนึ่งซึ่งรัฐจะต้องเคารพคือการจำกัดสิทธิในการชุมนุมจะต้องไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ

ข้อเท็จจริงที่ว่าการชุมนุมโดยสงบทำให้เกิดหรืออาจทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากสาธารณชนต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ควรเป็นเหตุให้มีการจำกัดสิทธิในการชุมนุม ในทางตรงข้ามการชุมนุมควรดำเนินต่อไปและผู้ร่วมชุมนุมจะต้องได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย ยกเว้นบางกรณีซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่ารัฐไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ชุมนุมหลังจากมีการประเมินความเสี่ยงอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว รัฐสามารถจำกัดสิทธิของผู้ร่วมชุมนุมได้

รัฐไม่สามารถกำหนดเงื่อนไขที่ไม่สมเหตุสมผลในการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ เช่น การกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมจ่ายค่าใช้จ่ายบริการสาธารณะหรือมีความรับผิดต่อการกระทำของผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นๆ

 

ำถามข้อ 5: เราต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐในการจัดการชุมนุมโดยสงบหรือไม่?

เนื่องจากสิทธิในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน การใช้สิทธิดังกล่าวไม่ควรต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐ ดังนั้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีความเห็นว่ารัฐที่กำหนดให้ต้องมีการขออนุญาตในการชุมนุมถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ในขณะเดียวกันคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยอมรับถึงการที่รัฐมีความชอบธรรมที่จะได้รับการบอกกล่าวล่วงหน้าเกี่ยวกับแผนการจัดการชุมนุม  โดยความเป็นจริงระบบแจ้งการชุมนุม (notification regime) ที่ดีจะช่วยให้รัฐสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีในการอำนวยความสะดวกการจัดการชุมนุมได้ เช่น การเบี่ยงการจราจร เป็นต้นและคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ชุมนุม  อย่างไรก็ตามความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ระบุถึงการนำระบบการขออนุญาตชุมนุมซึ่งทำหน้าที่เป็นระบบแจ้งการชุมนุมอย่างมีประสิทธิผลมาใช้ เช่น ระบบการขออนุญาตชุมนุมซึ่งมีการอนุญาตให้ชุมนุมเสมอ สามารถกระทำได้

 

คำถามข้อ 6: รัฐควรคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบโดยพลัน อย่างไร?

แม้ว่ารัฐมีการใช้ระบบแจ้งการชุมนุมตามที่สามารถกระทำได้ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)  ระบบดังกล่าวควรมีข้อยกเว้นสำหรับการชุมนุมโดยพลัน  ซึ่งตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบันหรือสถานการณ์ใหม่ทางการเมืองเนื่องจากอาจไม่มีระยะเวลาเพียงพอในการแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าต่อเจ้าหน้าที่รัฐ การกำหนดเงื่อนไขการชุมนุมให้มีการแจ้งล่วงหน้าในสถานการณ์ดังกล่าวทำให้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบเป็นเพียงภาพลวงตา

 

คำถามข้อ 7:  รัฐควรคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวของผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุมในการชุมนุมโดยสงบอย่างไร? เช่น การรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเขาสามารถกระทำได้หรือไม่?

สิทธิในความเป็นส่วนตัวของผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุมในการชุมนุมโดยสงบจะต้องได้รับการเคารพด้วยเหตุผลสองประการ กล่าวคือเหตุผลภายใน (intrinsic reasons) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความจำเป็นในการเคารพความเป็นส่วนตัวของบุคคลทุกคนในทุกสถานการณ์และเหตุผลเชิงเครื่องมือ (instrumental reasons) ซึ่งเกี่ยวกับความกลัวที่เกิดขึ้นจากการเปิดเผยรายละเอียดส่วนบุคคลของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการชุมนุมหรือผู้ร่วมชุมนุม ดังนั้นรัฐจึงไม่ควรใช้เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจตรา (surveillance tools) ซึ่งรวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่บนโซเชียลมีเดียของผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ร่วมชุมนุมและการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าเพื่อระบุตัวตนและจัดเก็บข้อมูลของผู้ร่วมชุมนุม ในทางกลับกันผู้ชุมนุมมีสิทธิที่จะปกปิดใบหน้าของตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดเผยตัวตนในขณะเข้าร่วมชุมนุม(หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นในการแสดงออก)

ข้อมูลสำคัญซึ่งความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37  ได้รวบรวมไว้เกี่ยวกับหัวข้อนี้คือ สิทธิในความเป็นส่วนตัวควรได้รับการเคารพในพื้นที่สาธารณะเช่นกัน ในอดีตผู้ร่วมชุมนุมสามารถรักษาความเป็นส่วนตัวได้และเป็นเพียงแค่ “ใบหน้าหน้าหนึ่งในฝูงชน”  ในขณะที่ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการตรวจตราคนจำนวนมากและรวบรวมข้อมูลชีวภาพ ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปิดเผยตัวตนได้เช่นก่อนและละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุม

 

คำถามข้อ 8:  การกำหนดข้อจำกัดเกี่ยวกับเนื้อหาการชุมนุมโดยสงบสามารถกระทำได้หรือไม่? เช่น เจ้าหน้าที่รัฐสามารถกำหนดข้อจำกัดเกี่ยวกับเนื้อหาที่มุ่งเน้นในเรื่องการเมือง ได้หรือไม่?

โดยหลักแล้วเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถจำกัดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบเพียงเพราะเหตุผลด้านเนื้อหาที่มีการสื่อสารในการชุมนุม รัฐจะต้องเคารพหลัก“ความเป็นกลางทางเนื้อหา” (content neutrality) ไม่แทรกแซงเนื้อหาการชุมนุมและอำนวยความสะดวกในการจัดการชุมนุมโดยไม่คำนึงถึงข้อความที่จำเพาะเจาะจงทางการเมืองหรือข้อความอื่นๆซึ่งแสดงออกในการชุมนุมนั้น ยิ่งไปกว่านั้นความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ยังแนะนำว่า ผู้ชุมนุมทางการเมืองควรได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ เนื่องจากการกล่าวคำปราศรัยทางการเมืองมีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย

โดยทั่วไปการกำหนดข้อจำกัดเกี่ยวกับเนื้อหาการชุมนุมโดยสงบไม่สามารถทำได้ ยกเว้นในกรณีที่การชุมนุมมีข้อเรียกร้องหลักตกอยู่ในบังคับตามมาตรา 20 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย กล่าวคือเป็นการชุมนุมที่มีเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อใดๆเพื่อการสงคราม การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ เผ่าพันธุ์หรือศาสนาซึ่งยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเป็นปฏิปักษ์ หรือความรุนแรง รัฐภาคีต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิผลต่อการชุมนุมที่มีการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อการสงครามหรือสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังดังกล่าวรวมถึงการสลายการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องหลักละเมิดมาตรา 20 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือดำเนินคดีกับบุคคลซึ่งละเมิดกฎหมายอาญา ซึ่งการกระทำดังกล่าวของรัฐภาคีเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีมาตรา 20 โดยห้ามมิให้มีการสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชัง

 

คำถามข้อ 9 : สถานะการย้ายถิ่นฐาน (immigration status) เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบหรือไม่?

ไม่เกี่ยวข้อง บุคคลทุกคนมีสิทธิในการชุมนุมโดยสงบโดยไม่คำนึงถึงสถานะการย้ายถิ่นฐาน (immigration status) หากผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ร่วมชุมนุมต่างชาติได้รับการลงโทษหรือการคุกคามโดยการเนรเทศ หรือการเปลี่ยนสถานะการตรวจลงตราเนื่องจากการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ จะถือว่ารัฐไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

 

คำถามข้อ 10: รัฐสามารถห้ามการชุมนุมโดยสงบโดยเด็ดขาด เช่น เพื่อคุ้มครองสาธารณสุขในบริบทของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้หรือไม่? รัฐควรคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบในขณะที่แก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไร?

สิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบไม่ได้เป็นสิทธิสัมบูรณ์และอาจถูกจำกัดด้วยเหตุผลด้านสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม การห้ามการชุมนุมโดยเด็ดขาดด้วยเหตุผลด้านสาธารณสุขเป็นมาตรการเข้มงวดอย่างมากซึ่งต้องมีเหตุผลที่มีน้ำหนักมาสนับสนุนการใช้มาตรการดังกล่าว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากมาตรการด้านสาธารณสุขที่รัฐนำมาใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มักมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการใช้สิทธิมนุษยชนที่หลากหลาย(เช่นการจำกัดการเคลื่อนย้าย การทำงาน การศึกษา การชุมนุมทางศาสนา เป็นต้น) และสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบยังถือเป็นการตรวจสอบทางประชาธิปไตยที่สำคัญต่อการใช้ข้อจำกัดด้านสาธารณสุขที่มากเกินไป  ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐจำนวนมากได้กำหนดข้อจำกัดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ แต่ข้อจำกัดเหล่านั้นมักเกี่ยวกับจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยรวม สถานที่ของการชุมนุม(กลางแจ้ง)และการปฏิบัติตามแนวทางด้านสาธารณสุข(การสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง) โดยไม่เกี่ยวข้องกับการห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาด ในแง่กฎหมายการกระทำดังกล่าวของรัฐสามารถกระทำได้ เว้นแต่ต้องมีการเลี่ยงพันธกรณีอย่างเป็นทางการเนื่องจากสถานการณ์ฉุกเฉิน หากปราศจากการเลี่ยงพันธกรณีอย่างเป็นทางการแล้ว การห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาดถือเป็นการละเมิดพันธกรณีของรัฐภาคีภายใต้มาตรา 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และแม้ว่ารัฐมีการเลี่ยงพันธกรณี แต่การห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาดถือว่าเป็นมาตรการที่เข้มงวดเกินไปและไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเรื่องความจำเป็นและความได้สัดส่วนซึ่งยังคงบังคับใช้แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ดังแถลงการณ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการเลี่ยงพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (CCPR/C/128/2) ได้อธิบายไว้)

แปลโดย:  สิริมา ศิริเพ็ญวัฒนา

deneme bonusu bonus veren siteler bonus veren siteler deneme bonusu veren siteler aiaswo.org cafetinnova.org
deneme bonusu veren siteler obeclms.com bonus veren siteler

Rules of Procedure of the Human Rights Committee

Rules of Procedure of the Human Rights Committee CCPR/C/3/Rev.10

Arabic | Chinese | English | French | Russian | Spanish

CCPR NGO Participation

Documents adopted by the Human Rights Committee (March 2012)

English | French | Spanish | Russian | Handbook

CCPR NHRI Participation

Documents adopted by the Human Rights Committee (November 2012)

English | French | Spanish | Russian | Arabic | Chinese